Croatia, Republic of

สาธารณรัฐโครเอเชีย




     สาธารณรัฐโครเอเชียเป็นประเทศตอนเหนือของคาบสมุทรบอลข่านที่รวมกับฮังการี มาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ และพยายามแยกตนเองเป็นอิสระจากฮังการี ในการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolution of 1848) แต่ล้มเหลว เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลง โครเอเชียสามารถแยกตัวเองเป็นอิสระได้และรวมเข้ากับรัฐสลาฟใต้ือ่น ๆ มีชื่อเรียกว่า ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน(Kingdom of Serbs, Croats and Slovenes) แต่เปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Kingdom of Yugoslavia) ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กลุ่มชาตินิยมชาวโครแอตไม่พอใจที่ประเทศปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และถูกชี้นำโดยชาวเซิร์บซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ จึงพยายามเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวออกจนสามารถประกาศเอกราชได้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑
     โครเอเชียหรือที่เรียกว่าเฮอร์วัตสกา (Hrvatska) ในภาษาเซิร์บและโครแอตเป็นดินแดนที่พวกโครแอตอพยพจากบริเวณที่เป็นประเทศยูเครน (Ukraine) เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๖ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๗-๙ ได้หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกและรับอักษรละตินเป็นภาษาเขียน ใน ค.ศ. ๙๒๕สันตะปาปาจอห์นที่ ๑๐ (John X) ได้ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกโตมิสลาฟ (Tomislav)ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรโครเอเชีย หลังจากนั้น โครเอเชียต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับกองทัพของจักรวรรดิบัลแกเรีย (Bulgarian Empire)จักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) และแคว้นวินีเชีย (Venetia) ที่พยายามจะเข้าครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโครเอเชีย และชายฝั่งดัลเมเชีย อย่างไรก็ดีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ โครเอเชียสามารถขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนทั้งหมดซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสาธารณรัฐดัลเมเชีย (Dalmatia) โครเอเชียสโลวีเนีย (Slovenia) และบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Herzegovina)
     ใน ค.ศ. ๑๐๘๙ ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นซึ่งนำความหายนะมาสู่ราชอาณาจักรโครเอเชียจนในที่สุดต้องสูญเสียชายฝั่งดัลเมเชียให้แก่จักรวรรดิไบแซนไทน์ อีก ๒ ปี ต่อมาพระเจ้าลาสโลที่ ๑ (Laszlo I) แห่งฮังการี ก็ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์โครเอเชียและประกาศพระองค์เป็นกษัตริย์ของโครเอเชียด้วยต่อมาใน ค.ศ. ๑๐๙๓ ชาวโครแอตพยายามแยกตนออกจากการปกครองของฮังการี โดยสนับสนุนให้ปีตาร์ สวาซิก (Peter Svacic) ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้สำเร็จ แต่๔ ปีต่อมา พระเจ้าคาร์มาน (Karman) แห่งฮังการี ทรงนำทัพเข้าปราบปรามชาวโครแอตอย่างราบคาบ ตามสนธิสัญญาแพกตาคอนเวนตา (Pacta Conventa)โครเอเชียก็ถูกรวมเข้ากับฮังการี โดยยังคงมีสิทธิปกครองตนเองแต่ต้องยอมรับกษัตริย์ฮังการี เป็นกษัตริย์ของชาวโครแอตด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๕๒๖ เมื่อฮังการี ปราชัยต่อพวกเติร์กในยุทธการที่โมฮัก (Battleof Mohac) ดินแดนโครเอเชียส่วนใหญ่จึงต้องตกอยู่ใต้ปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ด้วย ส่วนดินแดนที่รอดพ้นจากการรุกรานนั้นสภาโครเอเชียก็ยกให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) แห่งออสเตรีย ปกครองต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ โครเอเชียสามารถหลุดพ้นจากการครอบครองของพวกเติร์ก แต่ชาวโครแอตก็ต้องเผชิญกับปัญหาการแผ่อิทธิพลของออสเตรีย และการที่ฮังการี ต้องการให้โครเอเชียเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรเท่านั้นแทนที่จะรวมกันและมีพระประมุขร่วมกันตามสนธิสัญญาแพกตาคอนเวนตาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ฮังการี ได้ดำเนินนโยบายบีบคั้นให้ชาวโครแอตยอมรับภาษาฮังการี เป็นภาษาราชการในโครเอเชีย นโยบายดังกล่าวนี้ได้ปลุกจิตสำนึกความรักชาติแก่ชาวโครแอตเป็นอันมากและก่อให้เกิดปฏิกิิรยาต่อต้านชาวฮังการี มากขึ้น
     ในสมัยสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๓-๑๘๑๕)ฝรั่งเศส ได้ครอบครองดัลเมเชีย ดินแดนบางส่วนของโครเอเชีย และอิสเตรีย(Istria) จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ทรงจัดตั้งดินแดนดังกล่าวนี้เป็นมณฑลอิลลิเรียน (Illyrian Provinces) ซึ่งสร้างความหวังให้แก่ชาวโครแอตที่จะรวมตัวกับชาวสลาฟอื่น ๆ แทนที่จะตกอยู่ใต้อิทธิพลของฮังการี และออสเตรีย ดังที่เคยเป็นมาในอดีตอันยาวนาน
     เมื่อสงครามนโปเลียนสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๘๑๕ ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา(Congress of Vienna) ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕ ที่ประชุมได้ตกลงให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กกลับไปมีอำนาจเหนือฮังการี และโครเอเชียอีกครั้ง แต่เมื่อออสเตรีย ดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของดินแดนใต้ปกครองของตนให้เป็นวัฒนธรรมเยอรมัน(Germanization) ฮังการี จึงพยายามปลีกตนออกจากอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กเพื่อจัดตั้งเป็นประเทศอิสระ ซึ่งรวมทั้งการจะผนวกโครเอเชียเข้าเป็นมณฑลหนึ่งของฮังการี ด้วย เจตนารมณ์ของฮังการี ดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิิรยาต่อต้านจากกลุ่มปัญญาชนชาตินิยมชาวโครแอตเป็นอันมากดังนั้น ในทศวรรษ ๑๘๓๐ และ ๑๘๔๐กลุ่มต่อต้านนี้จึงรวมตัวกันเป็นขบวนการอิลลิเรียน (Illyrian Movement) ซึ่งมีลยูเดวีต ไก (Ljudevit Gaj) เป็นผู้จัดตั้งและผู้นำเพื่อต่อต้านฮังการี ที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของโครเอเชียและเพื่อจะรวมดินแดนของชนเผ่าสลาฟใต้ให้เป็นปึกแผ่น
     ระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งเกิดขึ้นในยุโรป รัฐสภาฮังการี ได้ออกกฎหมายเดือนมีนาคม (March Laws) เพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองตนเองของโครเอเชียและรวมโครเอเชียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนฮังการี ในระหว่างนั้นเมื่อฮังการี เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยตนเองจากการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย บารอนยอซีป ยอลาซีช (Josip Jolacic) ข้าหลวงของโครเอเชียจึงส่งกองทัพเข้าร่วมกับฝ่ายจักรวรรดิออสเตรีย ปราบปรามการปฏิวัติในฮังการี
     แม้ฮังการี จะเป็นฝ่ายปราชัยต่อจักรวรรดิออสเตรีย ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ แต่โครเอเชียก็ไม่ได้รับอิสรภาพดังที่คาดหวังไว้ ในทางตรงกันข้าม ออสเตรีย กลับจัดตั้งระบบบัค (Bach System) ขึ้นเพื่อรวมอำนาจการปกครองของจักรวรรดิเข้าสู่ศูนย์กลาง ณ กรุงเวียนนา และเพื่อปกครองฮังการี และโครเอเชียอย่างเข้มงวดในต้นทศวรรษ ๑๘๖๐ รัฐสภาโครเอเชียได้ประท้วงนโยบายดังกล่าวและเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ (federalist constitution) เพื่อรักษาสิทธิการปกครองตนเอง แต่ก็ถูกออสเตรีย ปฏิเสธและประกาศยุบรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๘๖๕
     อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ของออสเตรีย ต่อปรัสเซีย ในสงครามเจ็ดสัปดาห์(Seven Weeksû War) ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กต้องหันมาปรองดองกับรัฐต่าง ๆ ในปกครองของตน ใน ค.ศ. ๑๘๖๗ จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (FrancisJoseph) ทรงทำความตกลงประนีประนอมออสเตรีย -ฮังการี ที่เรียกว่าเอาส์ไกลช์(Ausgleich) ซึ่งกำหนดให้ออสเตรีย และฮังการี เป็นประเทศทวิภาคีที่มีฐานะเท่าเทียมกัน และปกครองภายใต้ระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy) โดยจักรพรรดิแห่งออสเตรีย จะดำรงพระอิสริยยศเป็นกษัตริย์แห่งฮังการี ด้วย
     ถึงกระนั้นก็ตาม ความตกลงประนีประนอมออสเตรีย -ฮังการี ก็ไม่สามารถยุติปัญหาระหว่างฮังการี กับโครเอเชียได้ ยิ่งไปกว่านั้นความตกลงดังกล่าวยังทำให้ออสเตรีย ได้รับสิทธิครอบครองดัลเมเชียและอิสเตรีย และทำให้ฮังการี มีอำนาจปกครองโครเอเชียและสลาโวเนีย (Slavonia) ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวโครแอตและชาวสลาฟอื่น ๆ ที่อาศัยในบริเวณนี้เป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองดังกล่าว ฮังการี จึงได้ทำความตกลงประนีประนอมฮังการี -โครเอเชียหรือ“นอก็อดบา” (Nagodba) ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ โดยยอมรับภาษาโครแอตเป็นภาษาราชการในโครเอเชีย และให้โครเอเชียมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งตลอดจนสิทธิในการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา การศาล และการเกษตร แต่ในทางปฏิบัติโครเอเชียก็ยังคงตกอยู่ใต้อิทธิพลของออสเตรีย -ฮังการี ต่อไป ทั้งนี้เพราะข้าหลวงโครเอเชียต้องได้รับการแต่งตั้งจากฮังการี และอยู่ในความควบคุมของกษัตริย์ฮังการี ซึ่งทรงเป็นจักรพรรดิแห่งออสเตรีย ด้วย
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ การต่อต้านของชาวโครแอตต่อความตกลงประนีประนอมฮังการี -โครเอเชียแสดงออกในรูปของขบวนการชาตินิยม ๒ กลุ่มกลุ่มหนึ่งเรียกร้องเอกราชและอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ของโครเอเชีย และต่อต้านการแทรกแซงทางด้านการเมืองของออสเตรีย และฮังการี อีกกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้โครเอเชียเป็นผู้นำของขบวนการรวมดินแดนของชาวสลาฟใต้ ซึ่งรวมทั้งมณฑลดัลเมเชียของออสเตรีย และบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนาที่อยู่ใต้การปกครองของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันด้วย ฮังการี พยายามขัดขวางขบวนการชาตินิยมดังกล่าวโดยดำเนินนโยบายปกครองโครเอเชียอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และพยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมโครเอเชียให้ เป็นวัฒนธรรมฮังการี หรือแมกยาร์(Magyarization)
     การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เมื่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ในโครเอเชียได้หันมาปรองดองกันและยึดนโยบายการรวมเชื้อชาติสลาฟใต้เข้าเป็นรัฐประชาชาติเดียวกัน นโยบายดังกล่าวทำให้โครเอเชียต้องให้ความร่วมมือกับพรรคการเมืองของเซอร์เบีย จนสามารถจัดตั้งกลุ่มการเมืองผสมโครเอเชีย-เซอร์เบีย (Croatian-Serbian coalition) ขึ้นได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งต่อมาได้มีบทบาทสำคัญมากในการดำเนินการเพื่อแยกตัวออกจากฮังการี เมื่อสงครามบอลข่าน(Balkan Wars)ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๑๓ โครเอเชียได้พยายามร่วมมือกับกลุ่มสลาฟใต้อื่น ๆ เพื่อผนวกเซอร์เบีย และมอนเตเนโกร (Montenegro) ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามกับดินแดนของตนเพื่อจัดตั้งเป็นประเทศยูโกสลาฟ (Yugoslav) แต่ิวกฤตการณ์การลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ็กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)ณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) ในมณฑลบอสเนีย (Bosnia) เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๑๔ ทำให้ออสเตรีย -ฮังการี ถือโอกาสเข้าปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อรวมดินแดนของชาวสลาฟใต้อย่างรุนแรงอันเต ทรูมบิช (Ante Trumbiซc) และฟานอ ซูพีลอ (Fano Supilo) ผู้นำคนสำคัญของโครเอเชียจึงต้องลี้ภัยออกนอกประเทศและจัดตั้งคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟ (Yugoslav Committee) ขึ้นที่กรุงลอนดอนและกรุงปารีสระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้สัมพันธมิตรสนับสนุนการรวมเข้าเป็นประชาชาติเดียวกันของพวกสลาฟใต้
     ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ผู้นำและผู้แทนกลุ่มเชื้อชาติชาวสลาฟใต้ได้ลงนามในกติกาสัญญาคอร์ฟู (Corfu Pact) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการจะสถาปนาประเทศของชาวสลาฟใต้ ในปีต่อมาได้มีการสถาปนาราชอาณาจักรของชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ คาราจอร์เจวิช (Alexander Karageorgeviซc) แห่งเซอร์เบีย ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการของราชอาณาจักรใหม่นี้และทรงเป็นกษัตริย์โดยเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑
     อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรของชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนก็ประสบปัญหาความยุ่งยากทางการเมืองภายใน เนื่องจากชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศพยายามกีดกันชนชาติือ่น ๆ รวมทั้งชาวโครแอตซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อชาติใหญ่เป็นที่ ๒ รองจากเซิร์บไม่ให้มีอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่กรุงเบลเกรด (Belgrade) ดังนั้น ชาวโครแอตจึงพยายามเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งระบอบสหพันธรัฐขึ้น ความแตกแยกระหว่างชาวโครแอตกับชาวเซิร์บจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุด สตเยพัน ราดิช (Stjepan Radiซc)หรือสตีเฟน ราดิช (Stephen Radich) หัวหน้าพรรคชาวนา (Peasant Party) ของโครเอเชียได้ถูกยิงในสภาผู้แทนราษฎรที่กรุงเบลเกรดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๒๘ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ชาวโครแอตจึงตั้งรัฐสภาของตนเองขึ้นที่เมืองซาเกรบ (Zagreb) และประกาศปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือทุกประการกับรัฐบาลกลาง
     พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์และสร้างเอกภาพทางการเมืองระหว่างชาวโครแอตกับชาวเซิร์บอีกครั้ง แต่ก็ทรงประสบความล้มเหลวดังนั้น เพื่อแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองดังกล่าวพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙ และทรงบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการต่อมา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ทรงเปลี่ยนชื่อราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บโครแอต และสโลวีนเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ซึ่งหมายถึงประเทศของชาวสลาฟใต้
     กระนั้นก็ตาม นโยบายบริหารและการรวมชาติของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ กลับทำให้ชาวโครแอตกระด้างกระเดื่องและเคลื่อนไหวต่อต้านมากขึ้นในที่สุดพวกก่อการร้ายชาตินิยมก็ลอบปลงพระชนม์พระองค์พร้อมด้วยลุย บาร์ตู(Louis Barthou) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส ณ เมืองมาร์แซย์ (Marseille) เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะเสด็จเยือนประเทศฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ
     ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ในที่สุด รัฐบาลกลางก็ต้องยินยอมในข้อตกลงที่เรียกว่าสปอราซัม (Sporazum) ให้ดินแดนของโครเอเชียซึ่งรวมทั้งดัลเมเชียและบางส่วนของบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนามีอำนาจอธิปไตย แต่ยังคงรวมอยู่ในราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวโครแอตชาตินิยมต่อไป
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อยูโกสลาเวียตกอยู่ใต้การยึดครองของกองทัพฝ่ายอักษะ ชาวโครแอตจึงฉวยโอกาสประกาศจัดตั้งประเทศเป็นเอกราชขึ้นทันทีที่เมืองซาเกรบเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และอีก ๔ วันต่อมาอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี และเบนีโต มุสโสลีนี(BenitoMussolini) ผู้นำอิตาลี ก็รับรองความเป็นเอกราชของโครเอเชีย
     หลังการก่อตั้งประเทศ อันเต ปาเวลิช (Ante Pavelicซ ) หัวหน้ากลุ่มฟาสซิสต์หัวรุนแรงได้รับเลือกให้ เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลหุ่นของโครเอเชียเขาดำเนินนโยบายให้ความร่วมมือและสนับสนุนกลุ่มประเทศอักษะเป็นอย่างดีและถือโอกาสเข่นฆ่าชาวเซิร์บซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองจนล้มตายเป็นจำนวนมากนโยบายของปาเวลิชได้สร้างความแตกแยกให้แก่ชาวโครแอตชาตินิยม และทำให้ชาวโครแอตและชาวเซิร์บจำนวนมากเข้าร่วมในกองทัพปลดแอกแห่งชาติของยูโกสลาเวีย (Yugoslav Army of National Liberation) ของยอซีป บรอช หรือตีโต(Josip Broz; Tito) ผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านกองทัพเยอรมันและอิตาลี รวมทั้งระบอบฟาสซิสต์ในโครเอเชีย
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งมีตีโตเป็นผู้นำได้อำนาจทางการเมือง ยูโกสลาเวียจึงเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นสังคมนิยมและใช้ชื่อประเทศว่า “สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย”(Socialist Federal Republic of Yugoslavia) ประกอบด้วย ๖ รัฐและ๒ มณฑลอิสระ (autonomous provinces) คือรัฐเซอร์เบีย โครเอเชีย สลาโวเนียบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย (Macedonia) และมณฑลวอยวอดีนา (Vojvodina) และคอซอวอ (Kosovo)
     อย่างไรก็ดี แม้โครเอเชียในช่วงหลังสงครามจะสามารถยุติปัญหากับเซอร์เบีย ได้และมีอำนาจบริหารกิจการภายในของตนเอง แต่ก็ยังไม่พอใจรัฐบาลกลางเพราะโครเอเชียเป็นรัฐที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เกษตรกรรม และการบริการมากที่สุดกว่าบรรดารัฐอื่น ๆ ทั้งยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดด้วย แต่ต้องนำเงินรายได้จำนวนมากดังกล่าวส่งให้รัฐบาลกลางเพื่อกระจายไปพัฒนาประเทศโดยส่วนรวมโดยเฉพาะรัฐที่ล้าหลังทางเศรษฐกิจ เช่นบอสเนีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร และมาซิโดเนีย การต่อต้านรัฐบาลกลางของโครเอเชียจึงเกิดขึ้นไม่ขาดระยะ อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ ๑๙๗๐ รัฐบาลกลางได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยตกลงให้รัฐโครเอเชียสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งสินค้าออกร้อยละ ๒๐ และจากการท่องเที่ยวร้อยละ ๔๕ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาภายในรัฐได้ ปัญหาความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจจึงบรรเทาลง
     โอกาสทางการเมืองของกลุ่มชาตินิยมชาวโครแอตเพื่อแยกโครเอเชียเป็นอิสระจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียมีขึ้นหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ในยุโรปตะวันออกซึ่งทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์เสื่อมลง ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ ดร.ฟรานโจ ทัจมัน(Franjo Tudjman) นักประวัติศาสตร์ชาวโครแอตซึ่งเป็นอดีตนายพลในกองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวียที่ถูกจำคุก ๒ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๙๗๒ และ ค.ศ. ๑๙๘๑ได้ตั้งพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งโครเอเชียหรือพรรคซีดียู (CroatianDemocratic Union - CDU) ขึ้น โดยมีนโยบายเชิดชู เอกลักษณ์และเรียกร้องความเป็นอธิปไตยของโครเอเชีย ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ซึ่งเป็นครั้งแรกของโครเอเชียนับแต่ิส้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคซีดียูได้ชัยชนะท่วมท้น ทัจมันจึงได้เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ รัฐบาลใหม่ของโครเอเชียได้ืร้อโครงสร้างการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เดิม โดยเริ่มจากตัดคำว่าสังคมนิยมออกจากชื่อประเทศ คงเหลือแต่สาธารณรัฐโครเอเชีย และในเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๙๐ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเน้นอำนาจอธิปไตยของโครเอเชียการมีอำนาจบังคับบัญชากองทัพของตน และการมีสิทธิที่จะมีสิทธิแยกตัวจากยูโกสลาเวีย แต่การที่ทัจมันเน้นเรื่องความเป็นประเทศของชาวโครแอตมาก ทำให้ชาวเซิร์บในดินแดนโครเอเชียประกาศสิทธิปกครองตนเองในเดือนธันวาคมนั้นด้วยรัฐบาลกลางของยูโกสลาเวียก็สั่งปลดอาวุธหน่วยป้องกันต่าง ๆ ของโครเอเชียแต่เผชิญกับการขัดขืน ทั้งโครเอเชียกลับตั้งกองกำลังแห่งชาติขึ้นมาด้วย
     ความตึงเครียดยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อสาธารณรัฐโครเอเชียและสาธารณรัฐสโลวีเนีย ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ และสั่งให้พลเมืองของตนลาออกจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ กองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวียก็เคลื่อนสู่โครเอเชียซึ่งมีจำนวนชาวเซิร์บอาศัยอยู่มากกว่าในสโลวีเนีย สงครามกลางเมืองในโครเอเชียจึงเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ กองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวียพยายามหนุนชาวเซิร์บในโครเอเชีย ทั้งชี้นำ ส่งกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์จนทำให้ดินแดน ๑ ใน ๓ ของโครเอเชียตกอยู่ใต้การยึดครองของพวกเซิร์บ ในเดือนตุลาคมนั้นเองพวกเซิร์บในโครเอเชียก็ประกาศเขตปกครองตนเอง๓ แห่ง รวมเรียกว่า สาธารณรัฐเซอร์เบีย นคราจีนา (Republic of Serbian Krajina)พวกเซิร์บกลุ่มนี้แสดงความประสงค์ว่าต้องการรวมอยู่กับสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียซึ่งเป็นประชาคมของพวกเซิร์บมากกว่าจะอยู่กับสาธารณรัฐโครเอเชียดังเดิม
     สงครามกลางเมืองซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนประมาณ ๒๓,๐๐๐ คนและอีกกว่า๔๐๐,๐๐๐ คนไร้ที่อยู่ได้ดำเนินไปจนกระทั่งองค์การสหประชาชาติ(United Nations)เข้ามาจัดให้มีการตกลงหยุดยิงครั้งที่ ๑๔ และส่งกำลังทหาร ๑๔,๐๐๐ คนที่เรียกว่ากองกำลังป้องกันแห่งสหประชาชาติหรืออันโพรฟอร์ (United Nations ProtectionForce - UNPROFOR) เข้าไปประจำการในเขตที่พวกเซิร์บยึดครองในดินแดนโครเอเชียเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒ กองกำลังนี้ทำหน้าที่ดู แลการถอนทหารของกองทัพแห่งชาติยูโกสลาเวียและตกลงให้เขตที่พวกเซิร์บอาศัยอยู่เป็นเขตปลอดทหาร โดยเรียกว่า เป็นดินแดนในความคุ้มครองของสหประชาชาติ (UNProtected Areas - UNPAs) โครเอเชียได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ (นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ประกาศเอกราช) ซึ่งทัจมันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อไปโดยมีวาระ ๕ ปี ในต้นเดือนกันยายน รัฐบาลยูโกสลาเวียประกาศว่าจะรับรองสาธารณรัฐโครเอเชีย แต่ให้มีอาณาเขตเท่ากับก่อนเกิดสงครามกลางเมืองและต้องให้เขตที่ชาวเซิร์บอาศัยอยู่มีสถานะพิเศษ
     ในครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๙๒ ปัญหาของโครเอเชียซับซ้อนขึ้นมาใหม่เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลต่อสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนา โครเอเชียร่วมโจมตีชาวเซิร์บและชาวมุสลิมในบอสเนีย เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวโครแอตในสาธารณรัฐนั้น จนถึงกับมีการประกาศตั้งประชาคมโครเอเชียแห่งเฮอร์เซก-บอสนา (Croatian Community of Herzeg-Bosna)ขึ้นทางภาคตะวันตกของเมืองเฮอร์เซโกวีนา นอกจากทำให้สหประชาชาติไม่พอใจแล้วยังทำให้ข้อเรียกร้องขอดินแดนคืนของโครเอเชียจากเซอร์เบีย ซึ่งอ้างหลักการไม่เปลี่ยนแปลงพรมแดนด้วยกำลังต้องมีน้ำหนักน้อยลง นอกจากนี้ ผู้นำเซอร์เบีย และโครเอเชียได้เจรจาลับกันเพื่อสนับสนุนการแบ่งดินแดนบอสเนีย ออกตามกลุ่มเชื้อชาติ โครเอเชียและเซอร์เบีย จึงถูกมองว่าร่วมมือกันโจมตีชาวมุสลิมในบอสเนีย เพื่อผลประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ขณะที่การรบในบอสเนีย กำลังดำเนินอยู่ เศรษฐกิจของโครเอเชียได้รับความกระทบกระเทือนมาก ทั้ง ๆ ที่เคยเป็นสาธารณรัฐของยูโกสลาเวียที่ทำรายได้มากที่สุด เพราะประเทศซึ่งมีพลเมืองเพียง ๔.๖ ล้านคน ต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้ีล้ภัยสงครามเป็นจำนวนมาก กล่าวคือมีประชาชนไร้ที่อยู่ ๒๕๒,๖๘๔ คนซึ่งมาจากเขตที่พวกเซิร์บยึดครองในโครเอเชียและ ๓๗๑,๓๗๖ คนจากสาธารณรัฐบอสเนีย -เฮอร์เซโกวีนา (ในจำนวนนี้เป็นชาวโครแอตร้อยละ ๒๐ ชาวมุสลิมร้อยละ ๘๐)
     อย่างไรก็ตาม หลังสงครามบอสเนีย สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๙๕ ปัญหาของโครเอเชียที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามบอสเนีย ก็ยุติลงด้วย เพราะกองกำลังโครเอเชียสามารถยึดคืนเขตปกครองของพวกเซิร์บในโครเอเชียกลับคืนมาได้ โครเอเชียจึงหันมาฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมและเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ชาวโครแอตจำนวนไม่น้อยที่ีล้ภัยออกนอกประเทศในช่วงสงครามก็เริ่มอพยพกลับมาและเป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูบูรณะประเทศ ใน ค.ศ. ๒๐๐๐ โครเอเชียปฏิรูปทางการเมืองจากระบบประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (semi-presidential system)มาเป็นระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๒ วาระประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งรัฐสภาให้ความเห็นชอบ รัฐสภามีสมาชิกระหว่าง ๑๐๐-๑๖๐ คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปและมีวาระดำรงตำแหน่ง ๔ ปีสตเยพัน เมซิก (Stjepan Mesic) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๒๐๐๐ และค.ศ. ๒๐๐๕ ดำเนินนโยบายผลักดันโครเอเชียให้ก้าวสู่ความทันสมัยและร่วมมือกับนานาประเทศ โครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NorthAtlantic Treaty Organization - NATO) โดยมีฐานะเป็นภาคีเพื่อสันติภาพ(Partnership for Peace) ต่อมา ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ โครเอเชียซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศทางเศรษฐกิจและสังคมได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป(European Union) และนับเป็นประเทศที่ ๒ ซึ่งเคยรวมอยู่กับประเทศยูโกสลาเวีย(Yugoslavia) ที่ขอเข้าร่วมในสหภาพยุโรปต่อจากสาธารณรัฐสโลวีเนีย การเจรจา
     


     เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเริ่มดำเนินการในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ และเป็นที่คาดหวังว่าโครเอเชียจะได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ใน ค.ศ. ๒๐๐๙หรือ ค.ศ. ๒๐๑๐.
     และ ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐโครเอเชีย (Republic of Croatia)
เมืองหลวง
ซาเกร็บ (Zagreb)
เมืองสำคัญ
รีเยกา (Rijeka) สปลิต (Split) และโอซีเยก (Osijek)
ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตย
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๕๖,๕๔๒ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : -ทิศตะวันออก : ประเทศฮังการีและประเทศเซอร์เบีย ทิศใต้ : ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาทิศตะวันตก : ประเทศสโลวีเนีย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ : จดทะเลเอเดรียติก
จำนวนประชากร
๔,๔๙๓,๓๑๒ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
โครแอตร้อยละ ๘๙.๖ เซิร์บร้อยละ ๔.๕ และอื่น ๆ ร้อยละ ๕.๙
ภาษา
โครเอเชีย
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๘๗.๘ คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๔.๔ ไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๕.๒ อื่น ๆ ร้อยละ ๒.๖
เงินตรา
คูนาโครเอเชีย (Croatia kuna)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป